cover_1

คลองเตยดีจัง ปันกันอิ่ม

ผู้ประสบภัยพิบัติ
อื่นๆ

เงินบริจาคของคุณจะเป็นค่าอาหารให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบอยู่ในขั้นวิกฤตในชุมชนคลองเตย6,178คน

project succeeded
โครงการสำเร็จแล้ว
16 ก.ค. 2563

อัปเดตโครงการสรุปผลกิจกรรมคลองเตยดีจังปันกันอิ่มเพส1 และกิจกรรมเพส 2

ช่วงเวลาที่ทำกิจกรรม

16 ก.ค. 2563 - 16 ก.ค. 2563

หลังจากที่มีการรายงานผลการสำรวจจชุมชนเป้าหมายและแนวทางการช่วยเหลือ เราพบว่า การช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางเป็นรายกรณี ต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะอาจจะนำไปสู่ความแย้งได้ เนื่องจากชุมชนอยู่ในภาวะยากลำบาก ทำให้ทีมงานมีการปรับแผนการทำงาน กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมีจำนวนมาก และการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มอาจทำให้ชุมชนเกิดความขัดแย้งในชุมชน ดังนั้นทางโครงการจึงเปลี่ยนเป็นช่วยเหลือทุกคน เพื่อความเสมอภาค และให้ชุมชนสร้างการแบ่งปัน ช่วยเหลือกันภายในชุมชน

ดังนั้นเป้าหมายที่จะช่วยเหลือ 3,000 คนๆละ 15 มื้อ ให้เดือนมีนาคม ถึง มิถุนายน เราช่วยเหลือทั้งหมด 5,635  จาก 6 ชุมชม และเพิ่มการช่วยเหลือเด็ก

โดยสรุปข้อมูลดังนี้

1. เริ่มระบบร้านค้าปันกันอิ่ม 6 ชุมชน ได้แก่

      ชุมชนโรงหมู

      ชุมชนบ้านมั่นคง

      ชุมชนแฟลต 23-24

      ชุมชนแฟลต 25

      ชุมชนริมคลองวัดสะพาน

      ชุมชนตลาดปีนัง

2. ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ มีทั้งหมด  43   ร้าน

3. ประชากร 6 ชุมชน มีจำนวนทั้งสิ้น 5,635   คน

4. จำนวนคูปองที่แจก 5 ครั้ง อิ่มละ 30 บาท 5,635 คน เป็นเงิน 845,250 บาท

5. จำนวนคูปองที่แจกให้เด็ก 6 ชุมชน 4 ครั้ง อิ่มละ 30 บาท 1,207 คน เป็นเงิน 144,840 บาท

 

ดังนั้นแผนการดำเนินการในเพส 2 ทางโครงการวางแผนดังนี้ 

เดือน ก.ค. ถึง เดือน กันยายน 63 จำนวน 4 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนริมคลองพระโขนง ชุมชนสวนไทร ชุมชนร่วมใจสามัคคี 

1. ชุมชนในเฟส1 ปรับแผนการแจกคูปอง โดยจะแจกให้เฉพาะเด็กในชุมชน เนื่องจากงบประมาณมีจำกัด และผู้ปกครองค่อนข้างมีภาระรายจ่ายสูงขึ้นจากการเปิดเทอม รวมถึงทางคลองเตยดีจังขยายการทำงานกับเด็กเรื่องประเด็นทางการศึกษา ซึ่งจำนวนเด็กที่จะให้คูปองกันอิ่มมี 1,207 คน

2. นำ Platform ที่เรียนรู้ในเฟส1 ขยายไป 3 ชุมชน และให้ชุมชนเป็นคนดำเนินโครงการต่อ และทีมคลองเตยดีจังเป็นพี่เลี้ยงในการให้คำปรึกษา 

3. การทำระบบฐานข้อมูลโดยให้อาสาสมัครในชุมชนเข้ามาจัดการร่วมกับทีมคลองเตยดีจัง

 

ความรู้สึกจากร้านค้า

ป้าห้อย ข้าวแกง ปกติก็ให้อยู่แล้ว หลายคนในชุมชนไม่มีงานทำ อดมื้อกินมื้อ ก็ไม่กล้ามาขอหรอก แต่เรารู้ว่าเขาไม่มี ป้าก็แบ่งกับข้าวให้บ้างวันไหนขายไม่หมด แต่พอมีคูปองเขาก็ดีใจได้มีอะไรมาเเลก ก็เอามาใช้ซื้อข้าวร้านเราแหละ ถูกปากเขา กินอยู่ประจำ

ป้านงค์ อาหารตามสั่ง แต่ก่อนขายข้าววันละสี่หม้อห้าหม้อ เจอโควิดคนตกงาน เขาเอาข้าวมาเเจก บางวันข้าวหม้อเดียวก็ขายไม่หมด มีคูปองขึ้นมาดีขึ้นมาหน่อย กลับมาขายข้าววันละสองหม้อแล้ว

พี่กะท้อน ข้าวต้มหมู หยุดร้านบ่อยมาก ลงทุนไปก็ขาดทุน กว่าจะหาทุนมาตั้งตัวได้ก็หลายวัน วันไหนไม่มีข้าวกล่องก็พอขายได้ วันไหนเขาเอามาเเจกเเล้วไม่บอกก็ซวยเลย คนไปเอาข้าวเเจก ขายไม่ได้ มีคูปองดีนะ คนในชุมชนก็มีข้าวกิน ร้านค้าก็ขายได้

พี่จอย ข้าวมันไก่ ช่วงโควิดนี่ต้องเปิดร้านเเต่เช้ามากๆ พอสายๆแล้วจะมีของมาแจกแล้วเราจะขายไม่ได้ แต่พอมีคูปองมันก็เหมือนเราได้ขายของปกติ รอลูกค้าเอาคูปองมาซื้อ ก็ยังพอมีลุ้นมากกว่า

ป้าริน ข้าวแกง ดีมีคูปองดีมากเลยดีกว่าเเจกข้าวกล่อง เห็นบางคนเดินไปเอาตั้งไกลตอนเช้ากลับมาข้าวก็บูด แต่บางคนก็กินนะ เขาไม่มีข้าวกิน มีคูปองดีเก็บได้ จะกินข้าวตอนไหนค่อยมาซื้อ เราก็ขายของได้ด้วย

9 เม.ย. 2563

อัปเดตโครงการรายงานผลการลงพื้นที่สำรวจความเดือดร้อน

ช่วงเวลาที่ทำกิจกรรม

9 เม.ย. 2563 - 9 เม.ย. 2563

สัปดาห์ที่ผ่านมาทีมคลองเตยดีจังได้ลงสำรวจชุมชนเป้าหมายมาแล้ว 3 ชุมชนได้แก่  1.ชุมชนบ้านมั่นคง  2.ชุมชนริมคลองวัดสะพาน 3.ชุมชนโรงหมูทั้งหมด 450 ครัวเรือนจากทั้งหมด 808 ครัวเรือน ซึ่งมีประชากรโดยประมาณ 1,841 คนที่สำรวจ โดยในสัปดาห์หน้าลงสำรวจพื้นที่อีก 3 คือ ชุมชนแฟลต 23-24 ชุมชนสวนอ้อย และชุมชนปีนัง  

จากที่ตั้งเป้าทำงานใน 5 ชุมชน เราพบความเดือดร้อนมาก ทำให้ขยายการช่วยเหลือเป็น 6 ชุมชม โดยการสำรวจพบว่าส่วนใหญ่คนในชุมชนประกอบอาชีพรับจ้าง ประกอบด้วย

  • ขับรถและการขนส่ง 30%
  • รับจ้างใช้แรงงาน กรรมกร 50%
  • ค้าขาย รถเข็น แผงลอย 5%
  • ลูกจ้างข้าราชการ 5%
  • เก็บของเก่า ไม่มีรายได้ พิการ ติดเตียง 10%

จากสถานการณ์โรคระบาด Covid – 19 ทำให้มีผู้ได้รับผลกระทบตกงาน รายได้ลดลงมากกว่า 70%

ดังนั้นที่ก่อนหน้านี้ทางโครงการเคยคาดการณ์ว่ามีผู้ได้รับผลกระทบ 20 % เมื่อสำรวจจริงมีผู้ได้รับผลกระทบถึง 70 % จึงจำเป็นต้องขยายการช่วยเหลือจากเดิม 1000 คน ใน 5 ชุมชน เป็น 3,000 คน ใน 6 ชุมชน เพื่อดำเนินงานได้อย่างตรงจุดครอบคลุมผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริงและเป็นการช่วยเหลือชุมชนอย่างยั่งยืน

เรื่องเล่าจากอาสาสมัครที่ลงเก็บข้อมูล

บ้านป้าอยู่กัน 11 คน เดิมรายได้หลักๆก็จะมาจากน้องสาวที่ทำงานเป็นแม่บ้าน และหลานอีก2คน ส่วนตัวป้ากับพี่สาวที่พูดไม่ได้ มีอาชีพเก็บของเก่าขาย เลี้ยงดูแม่ที่อายุเกือบ 70 ปี และป้ามีลูกของป้าเองที่ป่วย คนนึงเป็นกล้ามเนื้ออ่อนแรง อีกคนป่วยทางจิตเวช และก็มีเหลนอีก 3 คนที่ต้องดูแล

ตอนนี้ Covid-19 มา ทำให้รายได้ลดลงมาก หลาน 2 คนและน้องสาวป้าก็ตกงาน ส่วนพี่สาวก็พึ่งป่วยเข้าโรงพยาบาลทำงานไม่ได้ เท่ากับว่าตอนนี้รายได้หลักเลี้ยงครอบครัวมาจากป้าคนเดียวนี้แหละวันละ 100-200 บาท แต่ก็ยังพอมีเบี้ยยังชีพผู้พิการ ผู้สูงอายุช่วยเหลืออยู่บ้าง แต่ก็ไม่พอหรอก ไปหาหมอแค่จ่ายค่ารถ ค่าข้าวก็หมดแล้ว ตอนนี้ลำบากมาก ไหนจะค่าข้าว ค่าน้ำค่าไฟที่ต้องใช้ ตอนนี้ถ้าเป็นไปได้ก็อยากได้เป็นอาหารให้ครอบครัวป้าไม่อดก็ดีใจมากพอแล้ว

“ป้าตกงานมาเดือนกว่าแล้ว เงินไม่มีตอนนี้ได้แต่กู้หนี้ยืมสินมาใช้ไปก่อนบ้านเรามันต้องกินต้องใช้หลายคน ถามว่าดอกแพงไหมก็แพงแต่ทำไงได้ หวังว่าทำงานได้ค่อยผ่อนเอา ตอนนี้ไม่มีกินเลยลูกเอ้ย คุ้ยขยะขายของเก่าก็ไม่ได้ ดีที่วัดสะพานแจกอาหาร ไกลหน่อยแต่พยามเดินไปรอไม่งั้นไม่มีข้าวกิน อย่าว่างั้นงี้เลยนะลูก หน้ากากอันนึงตก 35 บาท เรามันคนจน 35 บาทอย่างน้อยซื้อข้าวคลุกน้ำปลาได้เกือบอาทิตย์​นึง จะจ่ายไปก็เสียดายขอบคุณ​นะลูกที่เอาหน้ากากให้”

 

แผนการดำเนินการขั้นต่อไป

1. สำรวจและทำฐานข้อมูลชุมชนที่เหลือได้แก่ ชุมชนแฟลต23-24 ชุมชนสวนอ้อย และขยายไปสู่ชุมชนปีนังรวม 854 หลังคาเรือน 2,617 คน

2. เริ่มทำถุงแบ่งปันเพื่อแจกจ่ายให้กับคนในชุมชนที่ต้องการได้รับการช่วยเหลือเร่งด่วน แมส เจล และของใช้ผู้สูงอายุ เด็ก ผู้พิการ ตามความจำเป็นของแต่ละครัวเรือน เพื่อให้ผู้ที่หาเช้ากินค่ำ รายได้น้อยเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกันโรค ในช่วงระยะที่ต้องกักตัวและตกงานอย่างเฉียบพลัน โดยให้แกนนำชุมชนไปส่งให้ที่บ้าน เพื่อไม่ให้เกิดการรวมตัวกัน

3. ประสานงานร้านค้าในพื้นที่อื่นๆเพิ่มเติม และสร้างระบบปันกันอิ่มในชุมชน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในชุมชน ลดการเคลื่อนตัวออกนอกพื้นที่ของคนในชุมชนจัดทำคูปองอาหารร้านอาหารในชุมชน แทนการทำโรงทานแจก เพื่อกระจายรายได้ให้ร้านค้าในชุมชนค้าขายได้ ผู้ได้รับผลกระทบเข้าถึงได้ทุกคน ได้รับประทานอาหารที่สดใหม่ ไม่ต้องเดินทางไกล เศรษฐกิจในชุมชนหมุนเวียน ปัจจุบันเริ่มต้นโครงการที่ชุมชนบ้านมั่นคงที่เป็นชุมชนแรก

4. สร้างอาชีพให้คนในชุมชนสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในระยะยาว เพราะการสร้างรายได้ให้คนในชุมชนคนที่ตกงาน ให้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ สร้างอาชีพที่สามารถนำกลับไปทำที่บ้าน เช่น ผลิตหน้ากากอนามัย หรือ ทำ หน้ากาก face shield โดยโครงการสนับสนุนอุปกรณ์และรับซื้องานจากคนในชุมชน เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับแพทย์ พยาบาล หรือผู้ที่เข้าไม่ถึงอุปกรณ์ป้องกันโรคต่อไป

 

สัปดาห์หน้าเราจะมารายงานความคืบหน้ากันต่อไปนะคะ