ต้องซื้อเอง... ผ้าอนามัย ถ้วยอนามัย หรือวัสดุรองรับ ประจำเดือน ทุกเดือน ตลอดชีวิต

ต้องซื้อเอง... ผ้าอนามัย ถ้วยอนามัย หรือวัสดุรองรับ ประจำเดือน ทุกเดือน ตลอดชีวิต

รู้ไหมว่าผู้หญิงต้องมีค่าใช้จ่ายสำหรับประจำเดือนของตนเองเท่าไหร่ในแต่ละเดือน???

แม้แต่ผู้หญิงเองบางคนอาจไม่เคยคำนวณ ว่าเดือนหนึ่งๆ ต้องใช้เงินมากแค่ไหนในการซื้อผ้าอนามัยหรือวัสดุรองรับประจำเดือน อาจเพราะว่ามันเป็นสิ่งที่ต้องซื้อหามาใช้เองจนชิน ด้วยรู้สึกว่าเป็นของจำเป็นที่ต้องซื้อ ต้องดูแลตนเอง

หากวัสดุรองรับประจำเดือนที่เลือกใช้คือผ้าอนามัย ซึ่งมีราคาชิ้นละ 3-5 บาท ต้องใช้วันละ 3-5 แผ่นต่อวันจึงจะถูกสุขอนามัย และมีประจำเดือนเฉลี่ยเดือนละ 5-7 วัน ต่อเดือน ใช้ผ้าอนามัยถึง 180-420 แผ่น ต่อคน ต่อปี (ข้อมูลจาก PPTV Online 23 ก.ค. 2564) นั่นหมายความว่า ค่าใช้จ่ายสำหรับประจำเดือนของผู้หญิงเฉลี่ยแล้วตกคนละประมาณ 2,000 บาท ต่อ 1 ปี (ข้อมูลจาก Youngfun พูดคุยกับสำนักอนามัย เมื่อวันที่ 1 กพ. 2566 และ ข้อมูลจาก สสส. ปี 2563)

2,000 บาท ต่อปี อาจนับว่าไม่มากหากมีรายได้ที่เพียงพอ และอยู่ในพื้นที่ที่เข้าถึงผ้าอนามัยได้ แต่มีผู้หญิงจำนวนมากที่ไม่สามารถหาผ้าอนามัยหรือวัสดุรองรับประจำเดือนที่ถูกสุขลักษณะมาใช้ในแต่ละเดือนได้ ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยเศรษฐกิจ ปัจจัยความเชื่อทัศนคติ และการอยู่อาศัยในพื้นที่ห่างไกลและขาดแคลน

ในแง่เศรษฐกิจ จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2563 พบว่ามีผู้หญิงในวัยที่มีประจำเดือนราว 12 ล้านคนที่ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้น้อย แสดงให้เห็นว่าอาจมีผู้หญิงจำนวนมากที่ไม่มีเงินมากพอที่จะสามารถซื้อผ้าอนามัยใช้ได้ ในแง่ปัจจัยด้านความเชื่อค่านิยม ทัศนคติ ศาสนา ในบางสังคมยังเห็นว่าประจำเดือนเป็นเรื่องน่าอาย เป็นเรื่องสกปรกที่ต้องปกปิด อย่างเช่นเด็กนักเรียนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีรายได้ไม่พอที่จะซื้อผ้าอนามัย ต้องใช้ผ้าซ้อนหลายๆ ชั้นเพื่อรองซับประจำเดือนแทน โดยไม่สามารถตากผ้าที่เปื้อนประจำเดือนในที่แจ้งได้ตามความเชื่อศาสนา ทำให้ผ้าที่ใช้รองรับประจำเดือนไม่แห้งสนิท ทำให้เด็กหญิงติดเชื้อเมื่อนำผ้าไปใช้ซ้ำ นอกจากนี้เด็กๆ เหล่านั้นยังไม่สามารถไปทำงานหรือเรียนได้ในช่วงเวลาที่มีประจำเดือน

ความห่างไกลของพื้นที่และความขาดแคลนก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงหลายๆ กลุ่มในประเทศไทยไม่สามารถเข้าถึงวัสดุรองรับประจำเดือนที่ถูกตามหลักอนามัยได้ ยกตัวอย่างเช่น เด็กและผู้หญิงกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่บนดอยสูงห่างไกลความเจริญ รวมถึงผู้ต้องขังในสถานกักกันต่างๆ ก็ประสบปัญหาการขาดแคลนผ้าอนามัย

ภาวะเข้าไม่ถึงหรือขาดแคลนผ้าอนามัย หรือวัสดุรองรับประจำเดือนนี้ (Period Poverty) เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก บางประเทศ (รวมถึงประเทศไทย) มีการเก็บภาษีผ้าอนามัยทำให้ไม่สามารถลดราคาผ้าอนามัยลงได้ หลายวัฒนธรรมและความเชื่อยังคงตัดสินว่าประจำเดือนเป็นสัญลักษณ์ของความไม่บริสุทธิ์ เด็กหญิงไม่สามารถไปโรงเรียนหรือพูดคุยกับผู้ชายได้ หรือกินอาหารบางอย่างไม่ได้ หลายประเทศเริ่มแก้ปัญหาภาวะขาดแคลนผ้าอนามัยของบางกลุ่มประชากรด้วยการแจกผ้าอนามัยฟรีในโรงเรียนหรือในสถานที่สาธารณะ ในขณะที่หลายประเทศลดภาษีสำหรับผ้าอนามัยทำให้ผ้าอนามัยมีราคาถูกลง ไปจนถืงรัฐบาลในบางประเทศกำหนดให้ผ้าอนามัยเป็นสินค้าที่ไม่ต้องซื้อ และผู้ที่ต้องการใช้สามารถเข้าถึงได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งหมดนี้ เป็นการแก้ปัญหาด้วยแนวคิดที่ว่า การมีสุขอนามัยที่ดีขณะมีประจำเดือน เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานสำหรับผู้หญิงทุกคน

ในประเทศไทยที่สังคมยังมีความเหลื่อมล้ำทั้งทางเพศและฐานะสูง การแก้ปัญหาภาระและความขาดแคลนผ้าอนามัยเป็นการทำให้ผู้หญิงหรือประชากรครึ่งหนึ่งของประเทศมีชีวิตที่ดีขึ้น หากผู้หญิงไม่จำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายส่วนนี้เพื่อประจำเดือนอีกต่อไป พวกเขาสามารถนำเงินไปใช้จ่ายด้านอื่นที่ส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และเกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจมากขึ้น รวมถึงสามารถเข้าถึงผ้าอนามัยได้ สามารถไปเรียน ไปทำงานได้ตามปกติ ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรได้รับในการมีสุขอนามัยที่ดี

ทางออกที่เป็นไปได้ขณะนี้ คือการผลักดันนโยบายผ้าอนามัยฟรีจากรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาเชิงระบบนี้ ซึ่งปัจจุบันกรุงเทพมหานครกำลังดำเนินการนำร่องให้มีผ้าอนามัยฟรีในโรงเรียน โดยมุ่งหวังว่าจะกลายเป็นนโยบายของจังหวัดต่างๆ และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระดับประเทศในที่สุด

นอกจากนี้ยังมีผู้ทำงานเพื่อแก้ปัญหาประเด็นเด็กและผู้หญิงที่เข้าไม่ถึงผ้าอนามัย อย่าง สานฝัน จิตต์มิตรภาพ ที่ก่อตั้งโครงการยังฝัน YOUNGFUN ถ้วยอนามัยรักษ์โลกแก้ปัญหาการขาดแคลนผ้าอนามัย ที่ส่งเสริมความรู้เรื่องสุขอนามัยของผู้หญิงและการมีประจำเดือน เพื่อให้ผู้หญิงมีทางเลือกในการเลือกสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อดูแลสุขอนามัยของตนเอง ด้วยการแนะนำและมอบถ้วยอนามัยซึ่งเป็นวัสดุรองรับประจำเดือนที่สามารถใช้ซ้ำได้นานถึง 3-5 ปี เป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อผ้าอนามัย รวมถึงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยที่ผ่านมาได้มอบให้กับเด็ก นักเรียน และผู้หญิงที่มีปัญหาขาดแคลนผ้าอนามัยแล้วกว่า 900 คน

  • กลุ่มเด็กชาวดอยชนเผ่าลาหู่ ไทยใหญ่ ณ จังหวัดเชียงราย
  • ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง จังหวัดปทุมธานี
  • กลุ่มเปราะบางที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
  • ในสถานกักกันเด็กและเยาวชนหญิงบ้านปราณี
  • ในชุมชนและในโรงเรียนภายใต้เขตดุสิตและเขตราชเทวี
  • สถานแรกรับธัญญพร
  • เรือนจำอำเภอธัญบุรี 
  • บ้านพักเด็กปทุมธานี
  • สถานกักขังกลางปทุมธานี
  • เรือนจำจังหวัดปทุมธานี  
  • สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดฯ

ซึ่ง 86% ของผู้ได้รับมอบถ้วยอนามัย เห็นว่าถ้วยอนามัยของโครงการยังฝัน ได้ช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาดีขึ้นกว่าเดิม

image title
image title

ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการช่วยแก้ปัญหานี้ได้ ตามโอกาสและความพร้อมในแบบฉบับของตนเอง หรือร่วมแคมเปญซื้อ 1 บริจาค 1 กับยังฝัน (ซื้อถ้วยอนามัย 1 ชิ้น เราบริจาคอีก 1 ชิ้นในนามคุณ) ได้ที่ https://shop.line.me/@youngfun

หรือร่วมสนับสนุนด้วยการบริจาคเงินได้ที่ https://taejai.com/th/d/youngfun-menstrualcup/

(สามารถบริจาคจำนวนเท่าใดก็ได้ให้แก่มูลนิธิ โดยเงินส่วนนี้นำไปลดหย่อนภาษีได้ค่ะ)

เพราะสุขอนามัยที่ดีคือสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรได้รับ

ข้อมูลอ้างอิง